5038 จำนวนผู้เข้าชม |
อุทยานแห่งชาติหวงหลง
หุบเขามังกรเหลือง (Yellow Dragon) เป็นแหล่งมรดกโลกทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,300 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี 1992 จากองค์การยูเนสโก
กล่าวกันว่า สถานที่แห่งนี้ จักรพรรดิอวี่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซี่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของจักรพรรดิผู้ยิ่งยงในประวัติศาสตร์ยุคโบราณของจีนได้เคยมาบรรเทาอุทกภัยที่นี่ โดยมีพาหนะคือมังกรเหลือง หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ มังกรเหลืองได้ละทิ้งวังมังกรของตนมาพำนักอยู่ยังโลกมนุษย์ และได้สร้าง ‘สระหยก’อันงดงามนี้ขึ้น เมื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) ได้มีการก่อสร้างวัดหวงหลงขึ้น เพื่อเซ่นไหว้มังกรเหลือง แต่นั้นมา ความงดงามเป็นเอก ของธารน้ำหวงหลงจึงได้อวดสู่สายตาของชาวโลก อย่างไรก็ตาม จากลักษณะทางกายภาพของอุทยานแห่งชาติหวงหลงที่ประกอบด้วยแนวหินสีเหลืองที่เกิดจากการจับตัวของแคลเซี่ยมแผ่คลุมอยู่โดยทั่วไปบริเวณสันเขา บ้างแปลงกายเป็นสระน้ำหลากสีสันที่ลดหลั่นเรียงตัวกันลงมาเป็นชั้นๆ เมื่อมองจากที่ห่างไกล จึงเห็นราวกับเป็นมังกรทองเหลื่อมสลับลายที่ลดเลี้ยวอยู่ท่ามกลางแมกไม้สีเขียว และเหินหาวสู่ยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี
มรดกโลกทางธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติหวงหลงอยู่ในอำเภอซงพันในเขตปกครองตนเองของชนเผ่าทิเบตอาป้าและเผ่าเชียง ทางตอนเหนือของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน)ของจีนติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติจิ่วไจ้โกว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,340 ตารางกิโลเมตร บนความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 – 5,588 เมตร โครงสร้างทางภูมิศาสตร์ของหวงหลงมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ โดยตั้งอยู่บนขอบวงบรรจบของพื้นที่ทางธรณีวิทยาที่แตกต่างกันถึง 3 ลักษณะ ได้แก่ เขตที่ราบสูงของลุ่มน้ำแยงซี เขตทุ่งหญ้าซงพัน และเขตเทือกเขาฉินหลิ่ง (เส้นแบ่งเหนือใต้ทางธรรมชาติของจีน) นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตที่ราบสูงชิงจั้งในทิเบตและที่ราบต่ำในเสฉวน ก่อให้เกิดภูมิทัศน์แบบขั้นบันได ทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลักษณะทางธรณีวิทยาดังกล่าว ส่งผลให้หวงหลงกลายเป็นช่วงแนวเขาสุดท้ายและเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาเทือกเขาสูงจากภาคตะวันตก ก่อนจะเข้าสู่เขตที่ราบลุ่มภาคกลางของจีน ก่อเกิดเป็นทัศนียภาพที่น่าตื่นใจของ หุบเหวลึกนับพันเมตร ยอดเขาสูงชันที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี โตรกธารน้ำแข็งนับร้อยพันสายที่เลาะเลี้ยวไปตามหุบเขาทุกหนแห่ง อันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ 3 สายของจีน ได้แก่ ลำน้ำฝูเจียง หมินเจียง และเจียหลิง (ก่อนบรรจบกันเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง)